Painted Faces – ชิเสี่ยวฟุ โรงเรียนฝึกเฉินหลง (1988, Alex Law)

ก่อนจะก้าวมาเป็นซุปเปอร์สตาร์ ได้พบกับความสำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ ทุกวันนี้ เฉินหลง หงจินเป่า และหยวนเปียว ผ่านการต่อสู้ ดิ้นรนมากมายกว่าจะได้พบกับในเส้นทางอันยิ่งใหญ่ทั้ง ทำงานหนัก และอดทนกับอาชีพตัวประกอบ และสตั้นแมน หรือแม้กระทั่งการประทังชีวิตด้วยการหางานอื่นๆ นอกวงการภภาพยนตร์ทำอย่างงานกรรมกร ก่อสร้าง แม้กระทั่งเดินทางทำงานยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงจุดเริ่มต้น ชีวิตในฐานะนักแสดงของเฉินหลง และพวกพ้อง ก็คือช่วงเวลาในสมัยยักเด็ก ที่เป็นนักแสดงงิ้ว การฝึกฝนอันหนักหน่วง ทั้งการแสดง และทักษะทางร่างกาย กลายเป็นต้นทุนสำคัญ ที่สร้างให้ พวกเขาสร้างชื่อ ในวงการภาพยนตร์ และสร้างความแตกต่างจากนักแสดงนำทั่วไป ในขณะนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เฉินหลง หงจินเป่า และหยวนเปียวเท่านั้น ดารา และคนทำหนังชื่อดังอย่าง หยวนหัว, หยวน ขุย และหยวนเต๋อ ก็เป็นผลผลิตจากโรงเรียนแห่งนี้

ภาพยนตร์เรื่อง Painted Faces หรือ ชิเสี่ยวฟุ เล่าเรื่องความทรงจำ ในช่วงนี้ของเฉินหลง และพี่น้อง เป็นความทรงจำที่เขาให้ความหมายว่า “ทั้งรักและเกลียด” รักอาจารย์ และพี่น้องทุกคน ขณะเดียวกัน การฝึกฝนอันเข้มงวด การลงโทษอันแสนสาหัส ก็เป็นสิ่งที่เฉินหลง บอกว่ายากจะลืมจริงๆ

หนังเป็นผลงานการร่วมกันสร้างของสองบริษัทผู้ยิ่งใหญ่ ชอว์บราเดอร์ และโกลเด้นฮาเวส อำนวยการสร้างโดย โมน่า ฟง และเลนนาร์ด โห บุคคลที่เฉินหลงบอกว่าเป็นเหมือน “พ่อบุญธรรม” ของเขา โดยผู้สวนบทอาจารย์ของพวกเขา ก็คือศิษย์พี่ใหญ่ ตัวจริงอย่าง หงจินเป่า นั้นเอง โดยมีคนทำหนัง คุณภาพแห่งยุค 80 – 90 อย่าง มาเบิล ชาง และอเล็ก ลอว์ เจ้าของผลงานอย่าง An Autumn’s Tale เป็นผู้กำกับ และเขียนบท

Painted Faces เริ่มต้นขึ้นเมื่อ หญิงวัยค่อนไปทางกลางคนผู้หนึ่ง ที่กำลังจะอพยพไปหางานทำยังต่างประเทศ จำใจจูงมือลูกชาววัยไม่ถึงสิบขวบ เข้าฝากฝังกับโรงเรียนงิ้วชื่อดังในฮ่องกง ที่ชื่อว่า “โรงเรียนศิลปะการแสดงจีน” ของ หยูจินหยวน หรือ หยูซิฟู อาจารย์หยู เพื่อเข้าฝึก และเป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะงิ้ว เพราะทั้งพ่อ และแม่ของเจ้าหนูไม่สามารถ เอาลูกคนเดียวไปผจญความลำบาก ที่ยังต่างแดนพร้อมกับตนได้ วันนั้นเป็นวันที่ เด็กน้อยนาม เฉินกงซาน หรือที่คนทั่วโลก รู้จักกันดีในเวลาต่อมาว่า “เฉินหลง” เริ่มต้นใช้ชีวิต ณ โรงเรียนงิ้วแห่งนี้ เป็นเวลายาวนานต่อเนื่องกว่าสิบปี

ศิลปะการแสดงของ หยูจินหยวน ประเภทที่เรียกว่า งิ้วปักกิ่ง มีความแตกต่างจากงิ้วประเภทอื่นๆ อยู่บ้าง ตรงที่ว่าไม่ได้เน้นหนัก ไปที่การร่ายรำอันสวยงาม หรือเสียงร้องที่ไพเราะ แต่มีจุดขายอยู่ที่การแสดงกายกรรมอันผาดโผน ท่านใช้เกือบทั้งชีวิตอุทิศตนให้กับการแสดงงิ้วประเภทนี้ ท่านก็มีกับเหล่าลูกศิษย์ ที่เริ่มต้นด้วยการ ถูกขัดเกลา และฝึกฝนกับอาจารย์มายาวนานกว่า 10 ปี และออกตระเวณแสดงทั่วทั้งเมืองจีนอีก 15 ปีเต็มจนกระทั่ง มาเปินโรงเรียน และสร้างคณะงิ้วของตัวเอง

หนังพาคนดูกลับไปรู้จักกับยุคฮ่องกงสมัยเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน นำเสนอเรื่องราวชีวิตของนักเรียนงิ้ว ที่มี ซัมโม่ (หงจินเป่าในวัยเด็ก) เป็นพี่ใหญ่ คอยช่วยเหลืออาจารย์ ดูแลน้องๆ อีกต่อหนึ่ง ทั้ง อาหลงจมูกโต (เฉินหลงในวัยเด็ก) อาเปียว (หยวนเปียวในวัยเด็ก) และเพื่อน พี่น้องร่วมสำนักกว่าอีกประมาณ สิบชีวิต ทั้งการใช้ชีวิต และการฝึกฝนวิชางิ้ว จากการฝึกฝนอันดุเดือด และความเข้มงวดแบบเกินธรรมดาของหยูซิฟู ตั้งแต่บทเรียนแรกอย่างการ เขียนหน้าให้ตัวเอง จนไปถึงการ การร้อง รำ ตีลังการ ที่หนักหนาสาหัสก็คือ การฝึกทักษะทางร่างกาย ที่ฝืนธรรมชาติ ดัดหลัง หรือฉีกขา อันสร้างความเจ็บปวดที่เกินประมาณ

แม้จะเหน็จเหนื่อย เสียเหงื่อเเสียน้ำตาแค่ไหน ทุกคนก็ยังพยายามต่อสู้ และอดทนต่อการฝึกต่อไป ไม่ใช่เรื่องของความรัก ต่ออาชีพ หรือรักต่ออาจารย์อะไรทำนองนั้น แต่เพราะงิ้ว และหยวนซีฟู เป็นเหมือกับชีวิตของเขา ไม่ว่าอย่างไรเด็กก็ยังคงเป็นเด็ก เหล่าลูกศิษย์คณะงิ้ว ยังคงอยากเที่ยวเล่นเหมือนเด็กทั่วๆ ไป มากกว่าฝึกซ้อมงิ้วแบบเอาเป็นเอาตาย การผิดกฏผิดระเบียบ ทำตัวซุกซน ไปบ้างจึงเป็นเรื่องปกติ ในสมัยเด็กแค่ดอกไม้ไฟเล็กๆ คนละอันก็สร้างความสนุกสนาน ช่วยให้ลืมความเหนื่อยยากไปได้ ในเวลาสั้นๆ

อีกเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นเต้นให้กับทุกคน ก็คือ การมาถึงของอาจารย์ฉิง (เจิ้งเผ่ยเผ่ย) ครูสอนงิ้วหญิงอีกคณะหนึ่ง ลูกศิษย์สาวๆ สร้างความกระฉุ่มกระฉวยให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหลง ขณะเดียวกัน หยูซิฟู เองกับอาจารย์ฉิง ก็ดูจะมีความรู้สึกดีๆ ต่อกันไม่น้อย มีอยู่ครั้งหนึ่ง หยูซิฟู พยายามหาเค้กเพื่อ มาเป็นของขวัญแก่ อาจารย์ฉิง ในวันเกิด แต่ทั้งชีวิตท่านรู้จักเรียกร้านขนมเปียะอะไรเทือกนั้น ขณะที่ร้านเบอรี่ ก็ไม่สามารถทำให้ได้ เพราะต้องสั่งก่อนหลายวัน สุดท้ายไปได้เค้กฝรั่ง มาก้อนหนึ่ง ที่เขียนหน้าเค้กไว้ว่า “สุขสันต์วันเกิดครอบรอบ 70 ปี” ซึ่งเป็นของยายแก่คนหนึ่ง ที่พึ่งตายไปเมื่อเช้า

และแล้วในที่สุดชีวิตที่ทั้งทุกข์ และสุข ของทุกคนก็ได้ฤกธิ์ปิดม่านลง เมื่อโรงหนัง และเพลงฝรั่ง กลายเป็นความบันเทิงของคนรุ่นใหม่ ธุรกิจการแสดงงิ้วเริ่มถึงทางตัน คณะงิ้วหลายๆ คณะยอมแพ้และปิดตัวไป แม้กระทั่งอาจารย์ฉิงก็ตัดสินใจที่จะเดินทางไป ต่างประเทศที่อาจจะมีคนยังพอสนใจ การแสดงของเธออยู่ ขณะที่หยูซิฟู จะพยายามดิ้นรนต่อไป จนกระทั่งโรงละครที่ทำมาหากินสุดท้ายของพวกเขา บอกเลิกสัญญา และหันไปเปิดการแสดงเต้นระบำฮาวาย ที่เชื่อว่าคนรุ่นใหม่อยากดูมากกว่าแทน

ฟางเส้นสุดท้ายขาดลงเมื่อ โรงเรียนของพวกเขา ที่เป็นห้องเช้าในตึกสภาพซอมซ่อ กำลังจะถูกทางการเวรคืน และทุบทิ้ง หยูซิฟู ฝากฝังลูกศิษย์ให้ไปทำงาน เป็นสตั้นแมน ในวงการภาพยนตร์ ส่วนเขาก็ตัดสินใจเดินทางไป หาโอกาสในต่างประเทศ คนทั้งเขา และอาจารย์ฉิง เชื่อว่า บรรดาคนแก่ๆ ที่อพยพย้ายถิ่น ในเมืองไชน่าทาวต่างๆ จะยังคงคิดถึง และแสวงหา งิ้วอยู่ อย่างที่คนฮ่องกงได้ลืมเลือนไปแล้ว

ในช่วงวันเวลาสุดท้ายของคณะงิ้ว ทุกคนทั้งศิษย์ และอาจารย์แวะไปเยี่ยม อาหัว อาจารย์อา และศิษย์น้องของ หยูซิฟู ที่กองถ่าย อาจารย์อาเป็นที่รักของทุกคน เป็นเหมือนพี่น้อง และสหายสนิทเพียงคนเดียวของอาจารย์ และความใจดี (ผิดกับหยูซิฟู) ก็ทำให้ท่าน เป็นที่รักของบรรดาเด็กทุกคน ภาพที่ทุกคนเห็นกลับกลายเป็นความเศร้า และสลด อย่างที่ไม่คาดคิด

อาจารย์อาผู้อารมณ์ดี และผ่อนคลายอยู่ตลอดเวลา ต้องตรากตรำทำงาน จนบอบช้ำไปทั้งร่างกาย และจิตใจ ในฉากสำคัญของหนังที่กำลังถ่ายทำ อาจารย์อา เกิดอุบัติเหตุตกจากสลิง จนสติสัมปชัญญะขาดสปั้น พร่ำเพ้อเรื่องราวมากมาย ความกลัวต่อการสูญเสียอาชีพ เพราะความชรา จนไปถึงเรื่องราวสมัยวัยเยาว์ ที่ทนทุกต่อการฝึกหัดงิ้ว และความเข้มงวดของอาจารย์ ภาพอันคลุ่มคลั่งของ อาจารย์อา เป็นภาพสะท้อนแห่งอดีตอันเจ็บปวด ของเหล่านักเรียนงิ้ว และอนาคตที่น่าหวาดกลัว ที่ทุกคนล้วนต้องเผชิญในภายภาคหน้า

ผมเองประทับใจกับ Painted Faces ค่อนข้างมากนะครับ หนังเล่าเรื่องแบบเรียบๆ แบบเรื่องสมจริง ที่ไม่ได้มีจุดหักเหอะไรมากนัก แต่ให้อารมณ์ที่อบอุ่น กับการถวินหาอดีต อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของหนังแล้ว ได้รับคำวิจารณ์ค่อนไปทางดี ถึงพอใช้ แต่ก็มีอยู่บางจุดเหมือนกัน ที่หนังถูกตำหนิเอาไว้

ประเด็นที่ Painted Faces ถูกวิจารณ์มากที่สุดก็คือ ในเรื่องของนักแสดง โดยเฉพาะกลุ่มนักแสดงที่รับบทเป็น บรรดาลูกศิษย์ของหยวนซิฟู หรือพูดอีกอย่างก็คือ พวกเฉินหลง หงจินเป่า หยวนเปียวนั้นเอง ทั้งในช่วงวัยเด็ก และวัยรุ่นผู้กำกับเลือกที่จะใช้ดาราไร้ชื่อ แถมมีหน้าตาธรรมดาสามัญ ที่แต่งตัวเหมือนกัน ทำผมทรงเดียวกันทั้งหมด จนออกมาชนิดแยกได้ยาก และไม่ชวนจดจำเลย

Painted Faces ไม่สามารถสร้างเสน่ห์ และความจดจำให้กับตัวละครเด็ก ได้เท่าไหร่นัก ทำให้เหตุการณ์หลายๆ อย่างในเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องราวสะเทือดใจ หรือน่ารักน่าชังใดๆ ไม่ได้ส่งผล ให้คนดูมีความรู้สึกร่วมกับตัวละครอย่างที่ควรจะเป็น เพราะลำพังจะจำยังจำไม่ค่อยได้เลย ใครเป็นใคร

ที่ว่าก็ถูกส่วนหนึ่งนะครับ แต่ถ้ามองอย่างเป็นธรรมนั้น ดูเหมือนจะเป็นความต้องการของผู้สร้างเอง (รวมทั้งเฉินหลง กับหงจินเป่า ด้วย) ที่ไม่ได้สร้าง Painted Faces เพียงเพื่ออุทิศให้กับชีวิตวัยเด็กของตัวเอง หากแต่อุทิศให้กับอาจารย์ของพวกเขา และคืนวันสุดท้ายแห่งศิลปะงิ้วปักกิ่งมากกว่า เรื่องราวของหนัง จึงค่อนข้างโฟกัสไปที่ ตัวละคร และกลุ่มรุ่นผู้ใหญ่ทั้งหลาย ใขณะที่ตัวละครเด็กจะถูกนำเสนอไปทางเป็นกลุ่มเป็นก้อน มากกว่าจะเจาะไปที่ตัวใดตัวหนึ่ง โดยตัวละครที่เด่นที่สุดก็น่าจะเป็น เฉินหลงตอนเด็กนั่นเอง

ขณะที่กลุ่มดารารุ่นใหญ่ในเรื่อง แต่ละคนล้วนให้การแสดงที่ยอดเยี่ยม สมจริง ราวกับเป็นคนๆ นั้นจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นหลินเจิ้งอิง หรือนางเอกสาวเจิ้งเผ่ยเผ่ย ในวัยสี่สิบเศษๆ ที่ยังดูดีอยู่เสมอ แต่คนที่ยอดเยี่ยมที่สุดของเรื่องคงจะหนีไม่พ้นหงจินเป่า กับบทอาจารย์หยูจินหยวน เขาสามารถถ่ายทอด ความอบอุ่น ความรัก หลุดรอดมาจาก การปั้นหน้ายักษ์ ความเข้มงวด และการลงโทษอันหนักหน่วง ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ไม่มากเกินความสมจริง และไม่น้อยเกิดที่จะสัมผัสได้

หนังนำเสนอ เรื่องราว และเหตุการณ์ ที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวพันกัน และอาจจะไม่ค่อยต่อเนื่อง มากมาย แต่ล้วนมีจุดประสงในการ พูดถึงช่วงเวลา สิ้นสุดแห่งยุคหนึ่ง และจุดเริ่มต้นของอีกยุค ตั้งแต่ยุคที่ หยูซิฟู กับอาจารย์อา สามารถร่ำร้องเพลงงิ้วกันกลางร้านกาแฟ ท่ามกลางเสียงปรมมือเชียร์ ชอบอกชอบใจจาก แขกคนอื่นๆ จนถึงวันที่เพลงงิ้วกลายเป็นของเชย ล้าสมัย ไม่สามารถสร้างความตื้นเต้น และเรียกร้องความสนใจ จากสาวที่บรรดาเด็กโรงเรียนงิ้วหมายปองได้ แม้แต่นิดเดียว การสิ้นสุดของการแสดงงิ้ว ชีวิตอันดิ้นรนของหยูซิฟู และเปิดฉากยุคสมัยใหม่ การดิ้นรนครั้งใหม่ของเหล่าเด็กหนุ่ม เรื่องราวในโรงเรียนงิ้ว เพื่อนฝูง พี่น้อง การทะเลาะเบาะแว้ง อาจารย์ การฝึกฝัน ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำที่สวยงาม หรือเจ็บปวด ก็ล้วนเป็นความทรงจำที่พวกเขาไม่มีวันลืม

เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับหนังครับ

  • ศิษย์หลายๆ คนของ หยูจินหยวน ใช้แซ่เหมือนกันว่า “หยวน” อย่าง หยวนเปียว หยวนหัว หรือหยวนขุย จริงๆ แล้วไม่ได้เพราะเป็นพี่น้อง หรือญาติกัน แต่เป็นชื่อที่ใช้ในการแสดง โดยนำมาจากชื่อของอาจารย์
  • เฉินหลง กับหงจินเป่า มีชื่อที่ใช้ในการแสดงว่า หยวนหลง และหยวนหลิว
  • ในหนังมีฉากหลังอยู่ที่ฮ่องกง ตัวละครพูดกันด้วยภาษาถิ่นในฮ่องกง แต่ความเป็นจริง เฉินหลง และพี่น้องจะคุยกันด้วย จีนกลาง เพราะส่วนใหญ่มีพื้นแพมาจากแผ่นดินใหญ่
  • หยูจินหยวน เกิดเมื่อปี 1902 และพึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี 1997 นี่เอง อายุรวมได้ 95 ปี โดยใช้ชีวิตช่วงกว่า 30 ที่แอลเอ สหรัฐอเมริกา
  • หลังจากที่บรรดาลูกศิษย์ ประสบความสำเร็จ และสร้างชื่อได้ในวงการภาพยนตร์ หยวนซิฟู ก็โชคดี ได้รับชื่อไปด้วย และได้เล่นหนังกับเค้าด้วย ในผลงานชื่อว่าเรื่อง The Old Master ที่สร้าง และกำกับโดย กัวะหนานหง ในปี 1979
  • นอกจากเฉินหลง กับหงจินเป่า ที่แสดง และมีส่วนในการสร้างแล้ว ศิษย์อีกคนของ หยูจินหยวน ที่ได้มีส่วนในหนังเรื่องนี้ก็คือ ลุงหนวด หยวนหัว (ที่แสดงบทพ่อของนาจา ในหนังโทรทัศน์ชุด นาจา ของ TVB และแสดงเป็นเจ้าของบ้านเช่ายอดฝีมือ ใน Kung Fu Hustle) ที่รับหน้าที่ กำกับคิวบู๊ให้กับหนัง
  • เมื่อยุคหนังขาวดำ วงการหนัง และงิ้ว ในฮ่องกง ถือว่าเกี่ยวดอง ช่วยเหลือเกื้อกูล กันมากกว่าจะแย่งชิงคนดู หรือเป็นคู่แข่งกัน อะไรทำนองนั้นนะครับ นอกจากหนังงิ้วที่เป็น แหล่งหารายได้ชั้นดีแล้ว ตำแหน่งตัวประกอบ ที่ต้องใช้ความสามารถ ในการร่ายรำอาวุธ และลีลากายกรรม ยังต้องเรียกใช้บริการจากนักแสดงงิ้วอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม เมื่อหนังแนวอื่น ได้รับความนิยมแทรกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหนังกำลังภายใน หรือกังฟู แม้จะว่าจ้างเด็กหนุ่มผู้ฝึกหัดงิ้ว ไปสร้าง และแสดงประกอบ ในทางตรงกันข้าม กับทำลายวงการงิ้วด้วยเช่นกัน เพราะการแย้งชิงคนดูส่วนใหญ่ไปหมด
  • เฉินหลง หงจินเป่า ก็มีโอกาศได้เขาฉากหนักตั้งแต่เด็กๆ มีข้อมูล (แบบไม่ยืนยัน) ว่าบทเด็กตัวประกอบบทหนึ่งในหนัง Come Drink With Me (หงทองคะนองศึก) นั้นแสดงโดยเฉินหลง ด้วย
  • ตัวของ หยูจินหยวนเอง ก็มีลูกสาวที่เป็นดารางิ้ว แสดงภาพยนตร์งิ้วถึงกว่า 100 เรื่อง
  • ในหนังมีฉากที่ เฉินหลง หงจินเป่า และหยวนเปียว ไปทำงานเป็น ตัวประกอบ และสตั้นแมน ในหนังของชอว์บราเดอร์ ระหว่างพักกินอาหาร หนุ่มทั้งสามปีนขึ้นไปกินข้าวกันบทหลังคาตึก ต่างตื่นเต้น ตะโกน ร้องบอกกัน ที่ได้เห็นฉากหนังเรื่อง “เดชไอ้ด้วน” และนางเอกคนดัง หลีหลี่โห เดินอยู่ด้านล่าง
  • หลินเจิ้งอิง ที่รับบทสำคัญในเรื่อง เป็นลูกศิษย์สำนักงิ้วด้วย แต่ไม่ใช่สำนักของ หยูจินหยวน แต่เขาเป็นศิษย์เอกของ มาดามฟาน (Madam Fan FokFa) ครูฝึกงิ้วหญิงคนสำคัญอีกคนในยุค ที่มีลูกศิษย์อย่าง เมิ้งฮุย สองพี่น้องเฉินเจียเล่อ เฉินเสี่ยวเห่า เสี่ยวโหว หลี่ไห่เซิน รวมไปถึง ดาราหนัง The Last Emperor จอห์น โลน ด้วย
  • ในหนัง ตัวละครของ หลินเจิ้งอิง เป็นสตั้นแมน ต้องทำงานหนัก และบาดเจ็บอยู่เสมอ โดยแลกเปลี่ยนกับเงินเพียงเล็กน้อย ใเนื้อเรื่องส่วนนี้ถือเป็นข้อเท็จจริงของอาชีพสตั้นในยุคนั้น ที่ได้รับค่าจ้างอันน้อยนิด และมีการป้องกันอุบัติเหตุที่จำกัด เนื่องจากหนังฮ่องกงยุคเก่า ไม่มีสตอร์บอร์ด (และส่วนใหญ่ไม่มีบท) สตั้นแมนต้องมานั่งรองาน อยู่ทั้งวัน “เผื่อ” ว่าจะมีการถ่ายฉากบู๊ ถ้าวันไหนไม่มีก็จะไม่ได้รับค่าจ้าง
  • เฉินหลง และหงจินเป่า เคยเป็นสตั้นแมนมาก่อน เมื่อชื่อเสียงโด่งดังจึงพยายาม สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอาชีพสตั้นแมน ด้วยการให้เงินรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อ พัฒนาให้เป็นงานที่มีเกียรติกว่าเดิม โดยเฉพาะการก่อตั้ง Jackie Chan Stunt Team และ Sammo Stunt Association

  • Credits
    บริษัทผู้สร้าง –
    Golden Harvest Films, Shaw Brothers (Hong Kong) Ltd.
    กำกับ – Alex Law Kai-Yui
    อำนวยการสร้าง – Leonard Ho Koon-Cheung, Mona Fong Yat-Wa
    บทภาพยนตร์ – Alex Law Kai-Yui, Mabel Cheung Yuen-Ting
    ถ่ายภาพ – David Chung Chi-Man
    ตัดต่อ – Yu Jun, Kwong Chi-Leung
    ดนตรีประกอบ – Lowell Lo Koon-Ting
    ออกแบบเสื้อผ้า – Chiu Suk-Wah
    กำกับคิวบู๊ – Sammo Hung Stuntmen’s Association, Yuen Wah
    แสดงนำ – Sammo Hung Kam-Bo, Lam Ching-Ying, Cheng Pei-Pei, Chung Gam-Yam, Cheung Man-Lung, Wong Chiu-Wai, Yeung Yam-Yin, Siu Ming-Fui, oo Fai, John Shum Kin-Fun, Wu Ma
  • Thailand distributions – จัดจำหน่ายในเมืองไทยโดย บริษัทนนทนันท์ ฟิล์ม ใช้ชื่อว่า “ชิเสี่ยวฟุ โรงเรียนฝึกเฉินหลง”
  • Rating – 4/5

5 ความเห็น

  1. DD · กรกฎาคม 10, 2008

    สุดยอดรีวิวเลยครับ เรื่องนี้ชอบมากๆ เลย ตอนนี้หาดูไม่ได้ซะด้วยสิครับ เห็นว่าที่ฮ่องกงกำลังจะทำแผ่นดีวีดีเรื่องนี้ออกมา เป็นลิขสิทธิ์ของชอว์ ก็ได้แต่ภาวนาล่ะครับ ว่าทางไทยเราจะเอามาทำด้วย (ยูไนเต็ด)

  2. yuttipung · กรกฎาคม 11, 2008

    เสียดายจังครับว่าน่าจะแก้คำผิดหน่อย มีคำที่เหมือนทำให้ไม่จบย่อหน้าอยู่หลายครั้ง

  3. mihk2002 · กรกฎาคม 13, 2008

    ขอบคุณ คุณ yuttipung ที่ช่วยแจ้งเข้ามาครับ

  4. chatty · พฤษภาคม 29, 2009

    ผมตามหา หนังเรื่องนี้ เป็นสิบปี แล้วครับ
    สมัยนั้นดูที่ รามา ตรงใกล้จุฬาฯ ปัจจุบันร้างไปแล้ว

    อยากได้ ฟิลลิ่งแบบ พันธมิตรให้เสียงพากษ์

  5. ภาคภูมิ · เมษายน 26, 2010

    ผมอยากได้หนังเรื่องนี้มาก มาก เลยครับ ใครมีรบกวนแจ้งหน่อยนะครับ หาเป็นสิบปีแล้วหาไม่เจอ ขอภาคไทยนะครับ เคยไปดูกับคุณพ่อตอนอายุสิบขวบแล้วชอบมากๆครับ ติดต่อได้ที่ num_bile@yahoo.com ครับ

ใส่ความเห็น