Dragon Inn – เดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์ (1992, Raymond Lee)

Dragon Inn เป็นงานรีเมคหนังคลาสสิค ปี 1967 เรื่อง Dragon Inn (หรือ Dragon Inn Gate) ของผู้กำกับผู้ยิ่งใหญ่ King Hu หนังมี ฉีเคอะ เป็นผู้ดูแลการผลิต Raymond Lee เป็นผู้กำกับ และ Ching Siu-Tung กับ Yuen Bun เป็นผู้กำกับคิวบู๊ ผลที่ได้ออกมาถือว่า ยอดเยี่ยมมากๆ หนังเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์อย่างที่หนังจีน กำลังภายใน งานสร้าง ดนตรีประกอบ และ การถ่ายภาพถือว่าทำได้ดี นับว่าเป็นงานที่ดีที่สุดของ ฉีเคอะ เทียบเท่ากับ หวงเฟยหง 1 และเดชคัมภีร์เทวดาทั้ง 2 ภาคเลยทีเดียว

หนังกล่าวถึง ช่วงเวลาแห่งความตกต่ำ ในยุคสมัยหมิง เมื่อประเทศจีนปกครองด้วย ขันทีโฉด เฉาเส้าเซียน หรือ เฉากงกง (ดอนนี่ เยน) ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ครอบงำอำนาจการตัดสินใจของ ฮ่องเต้ ขยายอำนาจปกคลุม เหนือราชสำนัก ควบรวมอำนาจการปกครองไว้แต่เพียงผู้เดียว มันจัดตั้งกองกำลังส่วนตัว จับ กักจัง และประหารคนอย่างไร้การสอบสวน แม้กระทั่งขุนนางผู้จงรักภักดีอย่างท่านแม่ทัพผู้บัญชาการทหาร หยางหยู่ซวง ที่คิดแข็งข้อ ก็ถูกจับตัวถูกประหารทั้งตระกูลอย่างไร้ความผิด เหลือเพียงบุตรชาย บุตรสาว ที่ถูกจองจำรอวันประหาร

จอมยุทธหนุ่ม โจวเหว่ยอัน (เหลียงเจียฮุย) อดีตมือขวา และคนสนิทของ แม่ทัพหยาง ทำการรวบรวมชาวยุทธกลุ่มหนึ่ง ปฏิบัติการเข้าชิงตัวทายาทของท่านแม่ทัพ โดยมี จอมทยุทธหญิง เหยามู่หยัน (หลินชิงเสีย) คนรักของเขาเป็นกำลังสำคัญ โดยมีเป้าหมายพาเด็กน้อยทั้งสองหลบหลีออกนอกด่านส่ง สู่แดนไกลอันเป็นแหล่งพักพิงที่ปลอดภัยแห่งสุดท้าย ทางเดียวที่แผนการจะสำเร็จทั้งหมดต้องผ่าน “ด่านมังกร” ด่าน ณ ชายแดนอันห่างไกล กลางทะเลทราย โดยมี “โรงเตี๋ยมมังกร” เป็นเส้นทางสำคัญ ที่จำเป็นต้องผ่าน และค้างแรมถึงจะผ่านด่านไปได้

กลุ่มชาวยุทธจำเป็นต้องค้างแรม ณ โรงเตี๋ยมมังกร อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงแม้จะทราบดีว่า เฉากงกง ได้ส่งมือดีมากมาย ออกตามล่าพวกเขา จำนวนหนึ่งก็ฝังตัวรอ อยู่ในโรงเตี๋ยมอยู่แล้ว เช่นเดียวกับกองทัพหลวงนับพันที่กำลังเดินทางตามมาสมทบ สิ่งที่ทุกฝ่ายไม่คาดคิดก็คือ โรเตี๋ยมแห่งนี้ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าของโรงเตี๋ยม ที่ชื่อว่า จิ้งจอกหยก (จางมานอวี้) นางพญาโจรสาวสวยพราวเสน่ห์ ซ้อนไว้ด้วยพิษร้ายมากมาย ทั้งวิชา ฝีมือเพลงยุทธอันจัดจ้าน หรือปากคอเราะร้าย เกินใครจะทานทน บทบาทของ จิ้งจอกหยก กลับมีผลต่อเรื่องราวอย่างไม่คาดคิด การกระทำอันคาดเดาไม่ได้ ของนาง มีผลต่อชัยชนะ และภารกิจ ของโจวเหว่ยอัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อครั้งออกฉาย Dragon Inn ไม่ได้สร้างความฮือฮาเช่นเดียวกับ เดชคัมภีร์เทวดา ที่พึ่งลาโรงไปก่อนหน้าไม่นาน เหตุผลสำคัญคงหนีไม่พ้น ความฉูดฉาดที่ถูกตัดทอนลง อย่างเห็นได้ชัด ไม่มีอีกแล้วสำหรับเสื้อผ้าสีรุ้งแบบ ตงฟางปุกป้าย โลเกชั่น และงานสร้างแปลกประหลาด แปรเปลี่ยนเป็น ฉากหลังทะเลทรายอันอ้างว้าง แห้งแล้ง เสื้อผ้าซมซ่อไม่ชวนมอง คิวบู๊พิศดาร เหาะเหินเดินอาการก็ถูกลดทอดลงไป เป็นแบบสมจริง แกมดิบเถื่อนโหดเหี้ยม โดยรวมภาพความสวยหรูแบบ เดชคัมภีร์เทวดา กลับกลายเป็นความ ธรรมดาสามัญ

ดูจากโครงเรื่องแล้ว หนังไม่เพียงหยิบเนื้อหาจาก Dragon Inn มาสร้างเท่านั้น ยังดึงเอาองค์ประกอบบางอย่างมาจากงานชั้นอีกของ คิง ฮู ด้วยโดยเฉพาะ Come Drink With Me กับ The Fate of Lee Khan งานอีกสองชิ้นที่เหลือที่อยู่ในชุด “ไตรภาคโรงเตี๋ยม” อันโด่งดังของเขา โดยเฉพาะฉากตัวละครทั้งสองฝ่าย ปิดปังฐานะของตน ชิงไหวชิงพริบ กันอยู่ในโรงแรมเล็กๆ นั้นดูคล้ายคลึงกับเนื้อหาของ The Fate of Lee Khan เช่นเดียวกับบทบาท และการแต่งกายของหลินชิงเสียที่ชวนให้นึกถึง เจิ้งเผยเผย จาก หงศ์ทองคะนองศึก อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตามนี้กลับเป็นจุดเด่นประการสำคัญของ Dragon Inn หนังประสบความสำเร็จ ในการสร้างบรรยากาศ อันแตกต่างจากหนังกำลังภายหรูหราฟูมฟาย ในช่วงขณะเวลานั้น ด้วยการหวนกลับไปหารากฐานแห่งความสมจริงในแบบหนังกำลังภายในยุค 60 เรื่องราวคลี่คลายไปสู่ความเรียบง่าย เล่าความขัดแย้ง ต่อสู้ของตัวละครหลากหลายกลุ่มหลายสังกัด ที่อัดกันอยู่ในสถานที่แคบๆ อย่าง โรงเตี๋ยมเล็กแห่งแดนใกล้ (อย่างไรก็ตามหนังก็ยังมีองค์ประกอบแห่งความ “ไม่ธรรมดา” แบบฉีเคอะมาให้ดูกับอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละคร “คนชำแหละเนื้อ” ที่แสนหลุดโลก อันนำมาซึ่งฉากจบที่ถูกตั้งคำถามอย่างมากถึง ความเหมาะสมโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับภาพรวมของหนังตลอดทั้งเรื่อง)

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดของ Dragon Inn เห็นจะเป็นเรื่องเนื้อหา ที่แตกต่างจากหนังกำลังภายในยุคหลัง ที่นิยมพูดถึงประเด็น ความโลภ โกรธ หลง กิเลส ของมนุษย์ ผ่านตัวละครที่เรียกว่า “จอมยุทธ” และมีฉากหลังเป็นดินแดนที่เรียกว่า “ยุทธจักร” Dragon Inn นั้นเล่าเรื่องในรูปแบบหนังกำลังภายในยุคบุกเบิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบที่พบเห็นได้บ่อยๆ ในหนังของคิง ฮู ที่มักจะพูดความสัมพันธ์ของ รัฐ กับคน (จอมยุทธ) ไม่ว่าจะในลักษณะของ รัฐที่ถูกมอง แบบเชิดชู เป็นที่พึ่งของประชาชน เป็นตัวแทนความยุติธรรม อย่างใน หงษ์ทองคะนองศึก ที่สร้างตัวเอกเให้ป็นเจ้าหน้าที่ หรือตัวแทนของรัฐ ทำหน้าที่ให้ความยุติธรรม ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้กับประชาชน หรือในมุมมองอีกด้าน รัฐในความหมายแห่งความกดขี่ ควบคุม หวงแหนอำนาจ เป็นการมองสถาบันปกครองด้วยสายตาแห่งความเคลือบแคลง สงสัยถึงความชอบธรรมของการมีอำนาจ

แน่นอนว่าหนังพูดถึงรัฐในแง่ร้ายนั้น ถูกสร้างออกมาเยอะกว่า ด้วยจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังในแนว “ต้านชิง” อันว่าด้วยการต่อสู้ของชาวฮั่น ต่อความเลวร้าย และการกดขี่ของรัฐบาลแมนจู นักวิจารณ์ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า ประเด็นลักษณะนี้ ทำให้หนังจีนกำลังภายใน ประสบความสำเร็จ ในฐานะหนัง Cult ในหลายๆ ประเทศ เพราะสามารถเชื่อมโยงไปหารสนิยม ของชนชั้นล่าง หรือชั้นกลาง ที่มีความรู้สึกความตนเองถูกรัฐ หรือชนชั้นปกครองกดขี่อยู่ตลอดเวลา ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ความโด่งดังของหนังกังฟูในสังคมคนดำ ของอเมริกา ที่มองเห็นภาพชาวฮั่นในรัชสมัยชิง ไม่แตกต่างอะไรจากตัวของพวกพ้องคนดำ ในสังคมที่คนขาวเป็นเจ้าของอำนาจ

ใน Dragon Inn เราไม่สามารถชี้ชัดฟันธงอย่างเด็ดขาด ถึงความหมายของรัฐ ในหนังเรื่องนี้ ให้ออกมาในทางดี หรือเลว ได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ตัวละครศูนย์กลางแห่งความชั่วร้ายจะเป็นชนชั้นปกครอง ตัวละครพระเอกที่ชื่อว่า โจวเหว่ยอัน นั้นบทบาทของเขากลับคาบเกี่ยวทั้งการเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนที่ต่อต้านการทำงานของรัฐไปในตัว ดูเหมือนว่า Dragon Inn นั้นไม่ได้ผูกติดบทบาทของภาครัฐ ไปกับความเลว หรือความดี โดยไร้เหตุผล แต่กลับมองเป็นเรื่องส่วนบุคคล โดยใจความสำคัญของ Dragon Inn นั้นว่าด้วยทางเลือก เหตุผล การกระทำ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของการเมือง การเสียสละ ของแต่ละบุคคล มาผูกโยงกับเรื่องความแตกต่างทางเพศ ระหว่าง ชาย และหญิง ได้อย่างน่าสนใจ

ตัวละครชายหลักที่แสดงโดย เหลียงเจียฮุย อย่าง โจวเหว่ยอัน นั้น มองเห็นการเสียสละตามแบบมาตรฐาน ของขนบธรรมเนียมประเพณี อันว่าด้วยผลประโยชน์ของส่วนรวม ชาติ แผ่นดิน และบุญคุณ เป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เขายอม เสี่ยงภัย สละกระทั่งคนรัก หรือความสุขส่วนตัว เพียงเพื่อภารกิจ อันว่าด้วยประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งจะว่าไปแล้ว อุดมการของ โจวเหว่ยอัน ก็ดูจะเชื่อมโยงไปหาตัวละครชายอีกตัวหนึ่งในเรื่อง เฉากงกง ขันที หรือ ผู้ถูกทำลายสัญลักษณ์ทางเพศ ก็ยังคงแสดงออกถึงความปราถนาต่อความยิ่งใหญ่ส่วนตัว อำนาจวาศนา ทั้งสองตัวละครให้ภาพของ ความทะเยอทะยาน และอุดมการ ของเพศชาย เกี่ยวด้องอยู่กับความสำเร็จ ในพื้นที่สาธารณะหรือส่วนรวม อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จุดที่ความแตกต่างก็คือ ชายแท้อย่าง โจวเหว่ยอัน อุดมการของเขามักถูกท้าทาจาก เหตุผลในเรื่องส่วนตัว อยู่เสมอๆ สถานการณ์มักจะนำซึ่งการตัดสินใจ การเสียสละ ที่ต้องเลือกเพียงสิ่งหนึ่งสิ่งเดียว ระหว่าง ส่วนรวม หรือส่วนตัว นั้นแตกต่างอย่างชัดเจนกับ เฉากงกง ขันที มนุษย์ผู้ถูกทำลายสัญลักษณ์ทางเพศ ความสุขในโลกส่วนตัวของเขานั้น ถูกทำลายไปจนสิ้น ชีวิตของเฉากงกง เหลือแต่เพียงความทะเยอทะยานในอำนาจ ปราศจาก “การต้องเลือก” หรือ การเสียสละ เมื่อเรื่องส่วนรวม กับส่วนตัว ของเขาถูกหลอมรวมเป็นเรื่องเดียวกันอย่างแยกไม่ออก

นั่นแตกต่างอย่างชัดเจน กับตัวละครหญิงหลักทั้งสองของเรื่อง ที่แสดงโดยจางมันอวี้ และหลินชิงเสีย สะท้อนภาพเพศหญิง ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัว เรื่องของจิตใจ มากกว่าเรื่องส่วนรวม อย่างชัดเจน จอมยุทธหญิง เหยามู่หยัน เสียสละทุกอย่างเพียงรวมถึงชีวิตของนางเองในท้ายที่สุด เพื่อช่วยเหลือภารกิจของชายคนรักให้สำเร็จ หาใช้ความภักดีต่อชาติแต่อย่างใด ขณะที่นางโจรจิ้งจองหยก ก็ชัดเจนว่า นางสอดมือเข้ามายุ่งเรื่องชาวบ้านนั้น เข้ามาแทรกแซงการต่อสู้ของสองฝ่าย เพียงเพราะว่าความสนใจ ต้องการอย่างได้ จอมยุทธหนุ่ม โจวเหว่ยอันมาครอบครอง เนื้อหา และการสร้างตัวละครที่หนังแน่นทำนองนี้ สร้างให้ Dragon In เป็นงานที่เรียบง่าย สร้างตัวละครในแบบมาตตกลับมีตัวละครสมจริงสมจัง ก

ฉีเคอะสร้างงานกำลังภายในออกมาหลายเรื่อง แต่ละชิ้นก็มีจุดดี จุดด้อย และเสน่ห์ที่แตกต่างจากกันไป Dragon Inn เป็นงานสำคัญอีกชิ้นของฉีเคอะ มีจุดเด่นอยู่ที่การเสนอเรื่องราวอันกระชับ ประเด็นค่อนข้างชัดเจน ไม่กระจัดกระจาย อย่างที่งานชิ้นอื่นประสบปัญหา งานสร้างต่างๆ ทำได้ดีเวลาผ่านไปกว่า 10 ปีแล้วก็ยังไม่ตกยุกตกสมัย การแสดงอันยอดเยี่ยมโดยเฉพาะจางมั่นอวี้ ที่ได้ขโมยความโดดเด่นไปแต่เพียงผู้เดียว ในทุกฉากที่เธอปรากฏกาย ที่สำคัญ Dragon Inn เป็นงานที่ปลุกวิญญานหนังกำลังภายในยุค 60 แท้ๆ ออกมาอีกครั้ง แม้จะไม่ได้สมบูรณ์แบบ แต่ก็น่าชื่นชม

  • Credits
    บริษัทผู้สร้าง –
    Film Workshop Co. Ltd.
    กำกับ – Raymond Lee Wai-Man
    อำนวยการสร้าง – Tsui Hark
    บทภาพยนตร์ – Tsui Hark, Charcoal Tan Hiu Wing
    กำกับภาพ – Arthur Wong Ngok, Tai Tom Lau Moon-Tong
    ตัดต่อ – Poon Hung
    ดนตรีประกอบ – Chan Fei Lit
    กำกับศิลป์ – William Chang Suk-Ping, Chiu Gwok San
    กำกับคิวบู๊ – Ching Siu-Tung, Yuen Bun
    แสดงนำ – Tong Leung Ka-Fai, Maggie Cheung, Brigitte Lin, Donnie Yen, Cheung-Yan Yuen, Xin Xin Xiong, Yee Kwan Yan, Shun Lau
  • Thailand Release – เข้าฉายปี 2536 โดยสหมงคลฟิล์ม ชื่อไทยว่า “เดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์” โดยนำชื่อไทยของ Dragon Inn ฉบับเก่าปี 1967 “ท่องแดนพยัคฆ์” มาผสมกับ “เดชคัมภีร์เทวดา” หนังกำลังภายในที่โด่งดังในช่วงนั้น มาผสมกัน ส่วนแผ่น นั้นทำออกมาหลายเจ้า ทั้ง แมงป่อง EVS ที่หาได้ง่ายที่สุดในปัจจุบันเป็นของ Lion Heart Pictures ออกมาทั้งในรูปแบบ DVD VCD ภาพคมชัดดี เพราะใช้ต้นฉบับ Remaster ของฮ่องกงมาทำ
  • Rating – 5/5
  • อ่านบทความนี้ดูแล้วผม คนเขียนเองก็ยังงงงงงๆ เลยครับ ถ้าคุณได้อ่าน แล้วรู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องยังไง ก็เขียนเข้ามาแนะนำกับได้ครับ

13 ความเห็น

  1. yuttipung · มีนาคม 6, 2008

    ตัวบทความไม่ได้มีปัญหามากอะไรครับ แต่ต้องแก้คำผิดให้เยอะกว่านี้

  2. atrickofthelight · มีนาคม 7, 2008

    ชอบจางม่านอี้วในหนังเรื่องนี้อย่างรุนแรง

  3. Thunder · มีนาคม 11, 2008

    เรื่องนี้เป็นหนังที่ชอบมากระดับ top ten ในใจทีเดียว

    ชอบบทหนัง เป็นประมาณ มะรุมมะตุ้ม รุม โรงเตี๊ยม ได้เลย
    ทุกคนในเรื่องล้วนมีเป้าหมาย มีเรื่องในใจ และความลับ

    ฉากพิเศษที่ชอบ คือ ฉากที่ขาของกงกง เหลือแต่กระดูกมาก (ฮา จริงๆ)

    เรื่องนี้ จางมั่นอี้ เด่นจริงๆ เด่นกว่า หลินชิงเสีย มาก
    อีกคนที่เด่นรองลงมาคือ เจิ้นจื้อตัน ตัวร้ายที่เก่งมาก

  4. kobe_quake · มิถุนายน 17, 2008

    — ผมชอบเรื่องนี้มากเลยครับ ซีนที่จางม่านอวี้ โดนลูกเฑัณฑ์ แล้วพระเอกต้องถอนออก เป็นซีนที่คลาสสิคมากเลยครับ ผ่านมาหลายปีแล้ว สงสัยหามาดูอีกทีครับ—

  5. นนทนันท์เอนเตอร์เทนเม้นท์ · เมษายน 20, 2009

    ขออนุญาตชี้แจงว่า “เดชคัมภีร์เทวดา”เป็นหนังดังค่ายนนทนันท์ แต่เรื่องเดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์ฉายช่วงปีที่ฉายเรื่องเดชคัมภีร์เทวดาภาค2 พร้อมกัน เพื่อไม่ให้คนสับสนชื่อเรื่อง สหมงคลจึงเปลี่ยนชื่อเป็ฯ” คัมภีร์แดนพยัคฆ์” ไม่มีคำว่าเดชตามที่เข้าใจ และทีมพากษ์ก็คือทีมพากษ์อินทรี

  6. mon5555 · พฤษภาคม 25, 2009

    มีDVDขายหรือเปล่าครับ

  7. kaninnit · กันยายน 19, 2010

    อยากดูเรื่องนี้เหมือนกันครับ (อยากดูเวอร์ชั่นของคิงฮูด้วย) พอจะแนะนำแหล่งขาย DVD ได้มั้ยครับ

  8. mihk2002 · กันยายน 20, 2010

    แผ่น DVD ของ Dragon Inn ทั้งสองฉบับมีขายในเมืองไทยครับถ้าขี้เกียจเดินทาง หาสั่งทางเว็บสั่งหนังอย่าง boom ดูได้ครับ

    http://www.boomerangshop.com/web/productdetail.aspx?pid=257975

    http://www.boomerangshop.com/web/productdetail.aspx?pid=220559

  9. art · กันยายน 21, 2010

    เพิ่งได้ดูเมื่อคืนทางทรูวิชั่นจานแดงหนังสนุกดีจางมานอวี้เด่นมากๆชอบขโมยซีนเจ๊หลิน ชอบฉากตอนที่พระเอกเอาลูกธนูออกจากไหล่นางเอกสุดยอดแห่งความคลาสสิคเลยครับฉากนี้ ข้าน้อยขอคาราวะ

  10. กันตินันท์ · กันยายน 21, 2010

    หนังเรื่อง เดชคัมภีร์แดนพยัคฆ์ เป็นของสหมงคล

  11. Mee Dark · มกราคม 18, 2012

    เพิ่งกลับจากดูภาคต่อของหนังเรื่องนี้ ที่เฮียฉีเคอะลงมากำกับเอง ดูแล้วสู้ภาคแรกไม่ได้เลย ทุกอย่างดูปลอมไปหมด เพราะมัวแต่ห่วงความเป็นสามมิติทะลุจอ ทำให้ฉากบู๊เต็มไปด้วยซีจีหลอกตา ไม่สวย ดุดัน แบบภาคแรก แถมเคมีระหว่างหลี่เหลียนเจี๋ย กับโจวซว่ิน ก็แห้งแล้งมาก ไม่เหมือนที่เหลียงเจียฮุยกับหลินชิงเสียในภาคแรกที่ดูแล้วรู้สึกซาบซึ้งประทับใจ สรุปแล้วชอบงานชิ้นที่แล้วของฉีเคอะอย่าง ตี๋เหรินเจี๋ย มากกว่า

ใส่ความเห็น